แชร์

ภ.ง.ด.94 คืออะไร

อัพเดทล่าสุด: 29 ส.ค. 2024
653 ผู้เข้าชม

วันนี้ Accounting95 จะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับ ภ.ง.ด.94

และใครบ้างที่ต้องยื่นในปี 2567 นี้

ภ.ง.ด.94 คืออะไร?

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี (ภ.ง.ด.94) คือ การยื่นแบบชำระภาษีที่แสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี โดยผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(5)-(8) แห่งประมวลรัษฎากร ที่มีเงินได้ตั้งแต่เดือน มกราคม 2567 ถึงเดือน มิถุนายน 2567 ไม่ว่าจะมีเงินได้ประเภทอื่นหรือไม่ก็ตาม จะต้องทำการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี (ภ.ง.ด.94) ให้กรมสรรพากร ภายในระยะเวลาที่กำหนด ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 - 30 กันยายน 2567 แต่การยื่นแบบทางออนไลน์ได้ถึงวันที่ 8 ตุลาคม 2567

การยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี (ภ.ง.ด.94) เป็นการชำระภาษีไว้ล่วงหน้า เพื่อช่วยให้แบ่งเบาภาระภาษีตอนสิ้นปี อีกทั้งยังสามารถให้ผู้มีเงินได้คาดการณ์รายได้ตลอดทั้งปี เพื่อวางแผนลดหย่อนภาษีก่อนการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรรมดา (ภ.ง.ด.90) ตอนสิ้นปีได้อีกด้วย

 
ใครบ้างมีหน้าที่ต้องยื่น ภ.ง.ด.94 ในปี 2567

1. ผู้มีเงินได้ประเภทที่ 5 ตามมาตรา 40(5) คือ ผู้มีเงินได้หรือได้รับประโยชน์อย่างอื่นจากการให้เช่าทรัพย์สิน ได้แก่ ค่าเช่าบ้าน ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง รถยนต์ หรือทรัพย์สินอื่น ๆ นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงเงินหรือประโยชน์ที่ได้จากการผิดสัญญาเช่าซื้อ และการผิดสัญญาซื้อขายเงินผ่อนที่ผู้ขายได้รับคืนทรัพย์สินที่ซื้อขาย โดยไม่ต้องคืนเงินหรือประโยชน์ที่ได้รับไว้แล้วอีกด้วย

2. ผู้มีเงินได้ประเภทที่ 6 ตามมาตรา 40(6) คือ ผู้มีเงินได้ที่ได้รับจากวิชาชีพอิสระ 6 ประเภท ได้แก่ แพทย์ นักกฎหมาย วิศวกร สถาปนิก นักบัญชี และช่างประณีตศิลป์ 

3. ผู้มีเงินได้ประเภทที่ 7 ตามมาตรา 40(7) คือ ผู้มีเงินได้ที่ได้รับจากการรับเหมาที่ต้องลงทุน จัดหาวัสดุส่วนประกอบที่สำคัญ ได้แก่ รับเหมาก่อสร้าง รับจ้างทาสี รับจัดอีเว้นท์ รับจัดสัมมนา เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้ได้รับเงินต้องทำหน้าที่จัดหาเองทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นค่าแรง ค่าเครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์

4.ผู้มีเงินได้ประเภทที่ 8 ตามมาตรา 40(8) คือ ผู้มีเงินได้จากการพาณิชย์หรือเงินได้อื่น ที่มิได้จัดประเภทไว้ตามมาตรา 40(1)-(7) ได้แก่ เงินได้จากการทำธุรกิจ ร้านขายของ ร้านเสริมสวย นักแสดง ขายของออนไลน์ ขายอสังหาริมทรัพย์ Youtuber Blogger Streamer รวมทั้ง รางวัลจากการชิงโชค เบี้ยยังชีพที่รัฐบาลจ่ายให้ เป็นต้น

เกณฑ์ในการยื่น ภ.ง.ด.94 

บุคคลธรรมดาที่มีเงินได้ทั้ง 4 ประเภทข้างต้น จำต้องมีเงินได้พึงประเมินในช่วงครึ่งปีแรก (มกราคม ถึง มิถุนายน) ตามจำนวนดังต่อไปนี้ จึงจะมีหน้าที่ยื่น ภ.ง.ด.94

  • > ผู้ที่เป็นโสด ที่มีจำนวนเงินได้เกิน 60,000 บาท
  • > ผู้ที่มีคู่สมรส ที่มีเงินได้ฝ่ายเดียว หรือทั้งสองฝ่ายรวมกัน ที่มีจำนวนเงินได้เกิน 120,000 บาท
  • > กองมรดกที่ยังมิได้แบ่ง ที่มีจำนวนเงินได้เกิน 60,000 บาท
  • > ห้างหุ้นส่วนสามัญ ที่มีจำนวนเงินได้เกิน 60,000 บาท
  • > คณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล ที่มีจำนวนเงินได้เกิน 60,000 บาท

 
หากยื่น ภ.ง.ด.94 เกินกำหนด หรือไม่ยื่น จะเป็นอย่างไร

หากไม่ได้ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี (ภ.ง.ด.94) ตามกำหนด จะมีโทษตามกฎหมาย ดังนี้

1. เสียค่าปรับอาญา

       > กรณียื่นแบบ ภ.ง.ด.94 เกินกำหนดแต่ไม่เกิน 7 วัน นับตั้งแต่วันพ้นกำหนดเวลา จะเสียค่าปรับ 100 บาท        > กรณียื่นแบบ ภ.ง.ด.94 เกินกำหนดเกิน 7 วัน นับตั้งแต่วันพ้นกำหนดเวลา จะเสียค่าปรับ 200 บาท

2. เสียเงินเพิ่ม (ดอกเบี้ย)

       > จะต้องเสียเงินเพิ่ม (ดอกเบี้ย) จากภาษีที่ต้องจ่ายในอัตรา 1.5% ต่อเดือน (เศษของเดือนคิดเป็น 1 เดือน) โดยนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนด

 

สรุป ภ.ง.ด.94 คือ 

       การยื่นชำระภาษีเงินได้ของบุคคลธรรมดาที่มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(5) ถึง (8) ประจำปีล่วงหน้าของครึ่งปีแรก โดยผู้มีเงินได้ในช่วงครึ่งปีแรกตั้งแต่ 60,000 บาทขึ้นไป มีหน้าที่ยื่นชำระภาษีดังกล่าว หากยื่นเกินกำหนดหรือไม่ยื่นแบบภาษี ภ.ง.ด.94 จะต้องระวางโทษปรับตามกฎหมาย

        หากเพื่อน ๆ ไม่อยากโดนสรรพากร เรียกเก็บภาษีย้อนหลัง หรือเสียค่าปรับและเงินเพิ่ม แนะนำให้วางแผนในการยื่นให้ทันกำหนดเวลา หากเพื่อน ๆ มีรายได้ค่อนข้างมาก ควรจะมีการวางแผนลดหย่อนภาษีไว้แต่เนิน ๆ ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาษี หรือสำนักงานบัญชี เพื่อช่วยในการวางแผนได้เลย

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมสรรพากร 

บทความโดย : แมวอ้วนตัวน้อย


บทความที่เกี่ยวข้อง
ภาษีต้องรู้สำหรับคนขายของออนไลน์
ภาษีต้องรู้สำหรับคนขายของออนไลน์
ยื่นงบการเงินให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
ยื่นงบการเงินให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
นำส่งภาษีให้กรมสรรพากร
นำส่งภาษีให้กรมสรรพากร
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy